การอาศัยได้ ของ พร็อกซิมาคนครึ่งม้า บี

หัวข้อเรื่องการอาศัยได้บนดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า บี นั้นยังไม่ได้มีการเสนออย่างเป็นทางการ[25][26][27] อย่างไรก็ตาม เราสามารถอนุมานแบบจำลองภูมิอากาศและพิจารณาเชิงทฤษฎีได้จากข้อมูลการกักเก็บสารระเหยได้บนดาวและรูปแบบการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์[27][28]

ดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้โคจรในเขตอาศัยได้ของดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า เป็นเขตที่น้ำสามารถดำรงสถานะของเหลวได้บนผิวดาวหากชั้นบรรยากาศและดาวเคราะห์เองมีสภาพที่เหมาะสม ดาวฤกษ์แม่เป็นดาวแคระแดง มีมวล 1 ใน 8 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ทำให้ขอบเขตอาศัยได้อยู่ระหว่าง 0.0423–0.0816 หน่วยดาราศาสตร์[1]

ถึงแม้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะตั้งอยู่ในเขตอาศัยได้ แต่ยังมีการตั้งคำถามถึงการอยู่อาศัยได้ เนื่องจากยังมีเงื่อนไขทางกายภาพอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเสี่ยงอันตราย เช่น ดาวเคราะห์ตั้งอยู่ใกล้ดาวฤกษ์พอที่จะเกิดปรากฏการณ์ไทดัลล็อก[18][29] ซึ่งเกิดขึ้นหากดาวเคราะห์มีความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจรเป็น 0 ทำให้ด้านหนึ่งของดาวเคราะห์ประจันหันหน้าเข้าดาวฤกษ์และได้รับความร้อนและรังสีอยู่ตลอดเวลา ส่วนอีกด้านตกอยู่ในความมืดและความเย็นตลอดไป[30][31] กรณีดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์ได้คิดว่าหากมีพื้นที่อยู่อาศัยได้บนดาวแล้ว พื้นที่นี้น่าจะตั้งอยู่บริเวณขอบของทั้งสองเขตนี้ นั่นคือพื้นที่ระหว่างกลางวันและกลางคืน โดยอุณหภูมิอาจเหมาะสมทำให้น้ำคงอยู่ในสภาพของเหลวได้หากมีน้ำบนดาวเคราะห์[29]

ค่าความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจรของดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า บี ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยเบื้องต้นทราบว่าต่ำกว่า 0.35[32] ซึ่งมีศักยภาพสูงพอที่จะเกิดการโคจรที่มีอัตราการสั่นพ้องของวงโคจรเป็น 3:2 คล้ายกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพุธเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์[33] องค์การหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรปสันนิษฐานว่าหากดาวเคราะห์ดวงนี้มีน้ำและบรรยากาศแล้ว จะเกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกว่าเมื่อไม่มีน้ำและบรรยากาศอย่างมาก ซึ่งอาจมีอุณหภูมิเฉลี่ยใกล้เคียงกับโลก[28][32] พื้นที่อาศัยได้อาจเพิ่มขึ้นอีกมากถ้าหากดาวเคราะห์ดวงนี้มีชั้นบรรยากาศหนาพอที่จะสามารถถ่ายเทความร้อนไปยังด้านที่หันหน้าออกจากดาวฤกษ์[29] แบบจำลองให้ผลไว้ว่า หากปัจจุบันดาวเคราะห์ยังมีชั้นบรรยากาศอยู่ ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจเคยสูญเสียปริมาณน้ำไปแล้วราว 1 มหาสมุทรในช่วง 100-200 ล้านปีหลังดาวเคราะห์ก่อกำเนิดเนื่องจากถูกรังสีของดาวฤกษ์กวาดออกไปในช่วงนั้น น้ำในสถานะของเหลวอาจปรากฏเฉพาะในพื้นที่ที่มีแดดแรงที่สุดของซีกดาวที่หันหน้าเข้าดาวฤกษ์ (กรณีไทดัลล็อก) หรือบริเวณเขตร้อนของดาว (กรณีการหมุนแบบสั่นพ้องอัตราส่วน 3:2)[27][28] ทำให้สรุปได้ว่า ความสามารถในการกักเก็บน้ำของดาวเคราะห์เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดต่อสภาพการอาศัยได้ของดาวเคราะห์[34] เราอาจใช้กล้องโทรทรรศน์หรือเครื่องมือสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ ซึ่งจะให้ข้อมูลด้านองค์ประกอบและชั้นบรรยากาศของดาวมากขึ้น นำมาวิเคราะห์ได้มากขึ้น[25]

ภาพเคลื่อนไหวด้านล่างคือแบบจำลองเชิงตัวเลขแสดงอุณหภูมิพื้นผิวที่เป็นไปได้บนดาวเคราะห์พร็อกซิมาคนครึ่งม้า บี โดยใช้แบบจำลองภูมิอากาศทั่วดาวเคราะห์ (Planetary Global Climate Model) ของห้องปฏิบัติการอุตุนิยมวิทยาเชิงพลวัต (Laboratoire de Météorologie Dynamique) ในที่นี้กำหนดให้ดาวเคราะห์มีบรรยากาศคล้ายโลกและมีมหาสมุทรปกคลุมดาวทั้งดวง เส้นประที่เห็นคือขอบเขตระหว่างผิวมหาสมุทรน้ำ (เหลว) และน้ำแข็ง และดาวเคราะห์มีการหมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบ

หากดาวเคราะห์มีการหมุนรอบตัวเองแบบสั่นพ้องอัตราส่วน 3:2 (ความถี่ธรรมชาติรูปแบบหนึ่งของการโคจร) แบบเดียวกับที่ดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์
หากดาวเคราะห์มีการหมุนรอบตัวเองแบบสั่นพ้องอัตราส่วน 3:2 (ความถี่ธรรมชาติรูปแบบหนึ่งของการโคจร) แบบเดียวกับที่ดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์ 
หากดาวเคราะห์มีการหมุนรอบตัวเองแบบหันด้านหนึ่งเข้าหาดาวฤกษ์เสมอ (synchronous) แบบเดียวกับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก
หากดาวเคราะห์มีการหมุนรอบตัวเองแบบหันด้านหนึ่งเข้าหาดาวฤกษ์เสมอ (synchronous) แบบเดียวกับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก 

แหล่งที่มา

WikiPedia: พร็อกซิมาคนครึ่งม้า บี http://www.ice.cat/personal/iribas/Proxima_b/pdf/P... http://www.bbc.com/news/science-environment-371673... http://www.cnn.com/2016/08/24/health/proxima-b-cen... http://www.cnn.com/videos/world/2016/08/24/earth-l... http://www.nature.com/news/earth-sized-planet-arou... http://www.nytimes.com/2016/08/25/science/earth-pl... http://www.space.com/33834-discovery-of-planet-pro... http://www.space.com/33837-earth-like-planet-proxi... http://www.universetoday.com/18092/temperature-of-... http://www.universetoday.com/18237/how-old-is-the-...